Maastricht, Treaty of; Treaty on European Union

สนธิสัญญามาสตริกต์, สนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป

​​     ​สนธิสัญญามาสตริกต์มีชื่อเป็นทางการว่าสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป เป็นสนธิสัญญาที่เป็นผลของการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิก (Intergovernmental Conference - IGC) ของประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community - EC)* ๒ การประชุม คือ การประชุมเพื่อจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินยุโรปหรืออีเอ็มยู (Economic and Monetary Union EMU) และการประชุมเพื่อจัดตั้งสหภาพการเมืองยุโรป หรืออีพียู (European Political Union - EPU) ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ซึ่งได้รับการลงนามโดยชาติสมาชิกประชาคมยุโรป ๑๒ ประเทศที่เมืองมาสตริกต์เนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๒ สนธิสัญญาฉบับนี้จึงรู้จักกันทั่วไปในชื่อสนธิสัญญามาสตริกต์ เป็นสนธิสัญญาที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดของสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union - EU)* เพราะได้เปลี่ยนสถานภาพของประชาคมยุโรปมาเป็นสหภาพยุโรปหลังสนธิสัญญามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๓ และเป็นสนธิสัญญาที่กำหนดโครงสร้างและรายละเอียดต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปไว้อย่างรอบด้าน โดยได้เพิ่มเติมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาที่เป็นพื้นฐานของประชาคมยุโรปทุกฉบับที่ลงนามก่อนหน้าสนธิสัญญาฉบับนี้ ตามสนธิสัญญามาสตริกต์สหภาพยุโรปมีสถานะเป็นทั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินและสหภาพการเมือง ซึ่งประกอบด้วย ประชาคมยุโรป นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงหรือซีเอฟเอสพี (Common Foreign and Security Policy - CFSP) และความร่วมมือทางด้านยุติธรรมและกิจการภายในหรือเจเอชเอ (Justice and Home Affairs - JHA)
     ความคิดที่จะจัดตั้งสหภาพยุโรปอันเป็นจุดหมายปลายทางของการบูรณาการยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการจัดตั้งประชาคมยุโรป ๓ ประชาคมในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ โดยเฉพาะในบทอารัมภกถาของสนธิสัญญาโรม (Treaty of Rome)* ฉบับ ค.ศ. ๑๙๕๗ เพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Economic Community - EEC)* ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าบรรดาชาติสมาชิกต่างมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็นสหภาพในลักษณะที่ใกล้ชิดกันที่สุด และในช่วงเวลาเกือบ ๔ ทศวรรษนับแต่การลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้จนถึงการประชุมระหว่างประเทศเพื่อจัดทำสนธิสัญญามาสตริกต์ใน ค.ศ. ๑๙๙๐ ก็ได้มีความพยายามเกิดขึ้นภายในประชาคมยุโรปหลายครั้งเพื่อจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินและสหภาพการเมืองในนามสหภาพยุโรปซึ่งนับเป็นพัฒนาการอันยาวนาน และแม้ว่าความพยายามเหล่านั้นจะไม่บรรลุผลแต่ผลการดำเนินงานและหลักการในหลาย ๆ เรื่องก็ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของสนธิสัญญามาสตริกต์ที่ลงนามใน ค.ศ. ๑๙๙๒
     การประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงเฮก (The Hague Summit) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความพยายามจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินขึ้นภายในกรอบประชาคมยุโรปพร้อม ๆ กับการเริ่มบูรณาการประชาคมในรอบใหม่หลังภาวะชะงักงันในช่วงที่ประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* มีอำนาจในฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๘-๑๙๖๘ ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้นำปัญหาการจัดตั้งอีเอ็มยูขึ้นมาพิจารณาอย่างละเอียด และได้มีมติให้จัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินขึ้นภายใน ค.ศ. ๑๙๘๐ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การมีเงินสกุลเดียวกันของ ชาติสมาชิกอีซี ในต้น ค.ศ. ๑๙๗๐ ปีแยร์ แวร์เนอร์ (Pierre Werner)* นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลักเซมเบิร์กก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการจัดทำแผนจัดตั้งสหภาพดังกล่าว
     แวร์เนอร์เสนอรายงานซึ่งรู้จักกันในชื่อ "รายงานแวร์เนอร์" (Werner Report) ฉบับสมบูรณ์ต่อที่ประชุมคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรป (Council of Ministers) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ เขาเสนอให้มีการจัดตั้งอีเอ็มยูขึ้นโดยดำเนินงานเป็น ๓ ขั้นตอนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๑ จนถึง ค.ศ. ๑๙๘๐ แต่เนื่องจากแผน ๓ ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการปรับค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินของชาติสมาชิกตลอดจนการปฏิรูปทางสถาบันที่ค่อนข้างซับซ้อน รวมทั้งต้องผ่านกระบวนการอนุมัติจากรัฐสภายุโรป (European Parliament) ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ไขสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรปที่ ชาติสมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในขณะนั้น ชาติสมาชิกหลักอย่างเช่นฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตกจึงไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ ประกอบกับในต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ เกิดภาวะวิกฤตการณ์การเงินทั่วโลกพร้อม ๆ กับวิกฤตการณ์น้ำมันและการล่มของระบบการเงินโลกที่สหรัฐอเมริกาก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ที่เรียกกันว่าระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods System) แผนแวร์เนอร์จึงถูกเลื่อนกำหนดเวลาการปฏิบัติตามขั้นตอนที่ ๒ และที่ ๓ ออกไปเรื่อย ๆ แม้ว่าใน ค.ศ. ๑๙๗๒ จะได้มีการจัดตั้งระบบโยงค่าเงินของชาติสมาชิกเข้าด้วยกัน (Currency Snake) โดยธนาคารกลางของชาติต่าง ๆ แต่ระบบดังกล่าวก็ล้มเหลวเนื่องจากความแตกแยกทางความคิดของชาติสมาชิก และในที่สุดภายในกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ อีเอ็มยู ก็ไม่ได้อยู่ในวาระเร่งด่วนของประชาคมยุโรปอีกต่อไป
     ในช่วงเดียวกันที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงปารีสในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๒ ก็ได้ขอให้สถาบันต่าง ๆ จัดทำรายงานเพื่อเสนอความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสหภาพยุโรปขึ้นภายใน ค.ศ. ๑๙๘๐ แต่ในขณะนั้นยังไม่มีผู้เข้าใจลักษณะที่ชัดเจนของอียูเท่าใดนัก จนในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๔ ที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงปารีสก็ได้แต่งตั้งเลโอ ทินเดมานส์ (Leo Tindemans)* นายกรัฐมนตรีเบลเยียมซึ่งเป็นนักนิยมยุโรป (Europeanist) ในแนวทางสหพันธ์ที่แข็งขันเป็นประธานคณะกรรมการจัดทำรายงานอย่างรอบด้านว่าด้วยการจัดตั้งสหภาพยุโรป คณะกรรมการชุดนี้เสนอ "รายงานทินเดมานส์" (Tindemans Report) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ รายงานฉบับดังกล่าวให้ภาพของอียูในลักษณะที่ชัดเจนกว่างานทุกฉบับที่ผ่านมา พร้อมทั้งเสนอให้บูรณาการสถาบันของอีซีเพื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นอียูในระบบสหพันธ์ทีละขั้นตอนซึ่งจะประกอบด้วยอีเอ็มยู นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง นโยบายร่วมด้านอุตสาหกรรม การเกษตร พลังงานและการวิจัย ตลอดจนนโยบายร่วมทางสังคม นโยบายภูมิภาคและมิติที่เกี่ยวกับพลเมืองยุโรปที่ลึกและมีความเข้มข้นกว่าเดิม นอกจากนี้ ทินเดมานส์ยังได้เสนอให้มีการปรับปรุงคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และรัฐสภายุโรปให้มีความ เข้มแข็งและมีอำนาจในทางนิติบัญญัติมากขึ้น รวมทั้งเสนอให้คณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรปลดการใช้มติเอกฉันท์ (Unanimity) และหันมาใช้การออกเสียงข้างมากโดยมีเงื่อนไข (Qualified Majority Voting - QMV) ให้มากขึ้นเพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน ข้อเสนอของทินเดมานส์ล้วนเป็นหลักการและองค์ประกอบสำคัญที่ปรากฏอยู่ในสนธิสัญญามาสตริกต์ทั้งสิ้น แต่เป็นข้อเสนอที่ไกลเกินไปสำหรับประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ในขณะนั้น โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ในขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปก็ไม่ต้องการแบ่งปันอำนาจกับรัฐสภายุโรป ดังนั้น แม้ว่าจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสุดยอดยุโรปรายงานทินเดมานส์ก็เป็นเพียงเอกสารอ้างอิงที่ยังไม่มีการนำไปใช้ในขณะนั้น
     อย่างไรก็ดี ความคิดที่จะฟื้นฟูอีเอ็มยูเกิดขึ้นอีกครั้งในปลายทศวรรษ ๑๙๗๐ เมื่อรอย เจงกินส์ (Roy Jenkins)* ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเสนอความคิดที่จะจัดตั้งระบบการเงินยุโรปหรืออีเอ็มเอส (European Monetary System - EMS) ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อใช้เป็นเครื่องมือปรับค่าเงินและสร้างเสถียรภาพทางการเงินของชาติสมาชิกในกรอบประชาคมยุโรปใน ระหว่างการบรรยายที่สถาบันมหาวิทยาลัยยุโรป (European University Institute) ที่เมืองฟลอเรนซ์ในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๗ และต่อมาเขายังได้พยายามเสนอความคิดนี้ต่อนายกรัฐมนตรีเฮลมุท ชมิดท์ (Helmut Schmidt)* แห่งเยอรมนีตะวันตกที่กรุงบอนน์ และต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันด้วย แต่ได้รับความสนใจจากเบลเยียมซึ่งเป็นประธานประชาคมยุโรปในขณะนั้นแต่เพียงประเทศเดียว
     ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๘ ชมิดท์และประธานาธิบดีวาเลรี ชีสการ์ เดสแตง (Valéry Giscard d’ Estaing)* แห่งฝรั่งเศสหันกลับมาสนใจอีเอ็มเอสอย่างจริงจัง เพราะชมิดท์ต้องการสร้างเสถียรภาพของเงินมาร์คเยอรมันเพื่อแข่งขันกับเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา ส่วนฝรั่งเศสต้องการพ่วงเงินฟรังก์ที่กำลังอ่อนค่าเข้ากับเงินมาร์คจึงสนับสนุนการจัดตั้งอีเอ็มเอสอย่างเต็มที่ ทั้งชมิดท์และชีสการ์ เดสแตงจึงฉวยโอกาสร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๗๘ ให้จัดตั้งอีเอ็มเอสขึ้นและก็ได้รับอนุมัติจากที่ประชุม แม้ว่าสมาชิกบางประเทศจะระแวงสงสัยว่าฝรั่งเศสกับเยอรมนีตะวันตกกำลังร่วมมือกันเข้ามาครอบงำประชาคมแต่ก็ต้องการสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับชาติตน ในขณะที่อังกฤษซึ่งมีเจมส์ คัลลาแฮน (James Callahan) เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงประเทศเดียวที่ไม่สนับสนุนระบบการเงินยุโรปส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการประท้วงการผนึกกำลังของฝรั่งเศสกับเยอรมนีตะวันตกและอีกส่วนหนึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของพวกที่ไม่สนับสนุนการรวมยุโรปในพรรคแรงงาน (Labour Party)* รวมทั้งเกิดจากความวิตกกังวลว่าอังกฤษอาจสูญเสียอธิปไตยทางการเงินให้แก่ประชาคมหากเข้าร่วมในอีเอ็มเอส อย่างไรก็ดี ระบบการเงินยุโรปที่มีกลไกอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราร่วมกันหรืออีอาร์เอ็ม (Exchange Rate Mechanism - ERM) เป็นกลไกหลักก็เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ โดยไม่ได้มีการแก้ไขสนธิสัญญาโรมแต่ประการใด การจัดตั้งอีเอ็มเอสนี้นับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากเพราะช่วยทำให้มีการประสานนโยบายทางการเงินระหว่างชาติสมาชิกซึ่งเป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งของอีเอ็มยูที่เกิดขึ้นหลังการลงนามในสนธิสัญญามาสตริกต์
     ใน ค.ศ. ๑๙๘๐ อัลตีเอโร สปีเนลลี (Altiero Spinelli)* นักนิยมยุโรปชาวอิตาลีคนสำคัญซึ่งได้ต่อสู้เพื่อการรวมยุโรปมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต้องการให้มีการจัดตั้งสหภาพยุโรปขึ้นโดยเร็ว เขาจึงร่วมมือกับเพื่อนสมาชิกรัฐสภายุโรปจากกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่มีความเชื่อมั่นในการรวมยุโรปเช่นเดียวกันราว ๗๐ คน ดำเนินงานนอกรัฐสภาจัดทำข้อเสนอเพื่อให้มีการปฏิรูปกลไกการดำเนินงานของอีซีในด้านต่าง ๆ และเร่งกระบวนการบูรณาการทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองในเชิงลึกและเข้มข้นมากขึ้นโดยผ่านทางรัฐสภายุโรปหลายฉบับ และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๔ สมาชิกรัฐสภากลุ่มนี้ยังได้เสนอร่างสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป (Draft Treaty Establishing the European Union) หรือ "ร่างสปีเนลลี" (Spinelli Draft) ต่อรัฐสภาซึ่งผ่านมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้าง มากอย่างท่วมท้น แต่ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้เนื่องจากไม่ได้ผ่านกระบวนการจัดทำสนธิสัญญาตามขั้นตอนของประชาคมยุโรป อย่างไรก็ดี ร่างสนธิสัญญาดังกล่าวก็ได้ให้ความคิดที่มีประโยชน์และ กว้างไกลเกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพยุโรปและสาระสำคัญหลายเรื่องในร่างสนธิสัญญาก็เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของสนธิสัญญามาสตริกต์ โดยเฉพาะแนวทางในการดำเนินงานอย่างเป็นประชาธิปไตยตามระบบสหพันธ์และระบบการแบ่งแยกอำนาจในระดับยุโรปและระดับประเทศ ซึ่งในสนธิสัญญามาสตริกต์เรียกว่า "หลักการแบ่งแยกอำนาจตามสิทธิแห่งชาติสมาชิก" (subsidiarity) ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้จึงถือเป็นต้นแบบส่วนหนึ่งของสนธิสัญญามาสตริกต์และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปกลไกของประชาคมยุโรปในช่วงกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ ในหลาย ๆ เรื่อง
     ในระยะเดียวกันฮันส์-ดีทริช เกนเชอร์ (Hans- Dietrich Genscher) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีตะวันตกได้ร่วมมือกับเอมีลีโอ โกลอมโบ (Emilio Colombo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศอิตาลีจัดทำแผนปรับปรุงอีซีเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๑ โดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางสถาบัน เช่น ให้มีการใช้ระบบการออกเสียงข้างมากแบบมีเงื่อนไขในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าเดิมและการให้อำนาจทางนิติบัญญัติแก่รัฐสภายุโรปมากขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานของอีซีมีประสิทธิภาพและมีความชอบธรรมทางกฎหมาย นอก จากนี้ เกนเชอร์และโกลอมโบยังเสนอให้มีการปรับปรุงระบบการติดต่อต่างประเทศของอีซีให้มีความเข้มแข็งรวมทั้งให้นำประเด็นปัญหาทางด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศเข้าไปรวมไว้ในระบบความร่วมมือทางการเมืองยุโรป (European Political Cooperation) เพื่อให้อีซีสามารถแสดงท่าทีร่วมต่อปัญหาระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมาที่ประชุมตอบสนองแผนเกนเชอร์-โกลอมโบ (Genscher- Colombo Plan) ด้วยปฏิกิริยาต่าง ๆ กัน เช่น ประธานาธิบดีฟรองซัว มิตแตร์รอง (François Mitterrand)* แห่งฝรั่งเศสไม่ให้ความสนใจเท่าที่ ควรเพราะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่นานนัก ในขณะที่นายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)* แห่งอังกฤษต่อต้านอย่างเต็มที่เพราะต้องการให้นโยบายด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศอยู่ภายใต้กรอบขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต(North Atlantic Treaty Organization - NATO)* มากกว่า ส่วนเดนมาร์กและชาติสมาชิกอื่นบางประเทศไม่ต้องการให้มีการบูรณาการยุโรปลึกไปกว่านี้และยังไม่ต้องการให้อีซีเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ในที่สุดที่ประชุมจึงลงมติให้นำแผนไปปรับปรุงใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
     แผนเกนเชอร์-โคลอมโบที่ปรับปรุงแล้วในชื่อ "ปฏิญญาอันเคร่งครัดว่าด้วยเอกภาพของยุโรป" (Solemn Declaration on European Unity) ได้ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปอีกครั้งที่เมือง ชตุดการ์ทในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๓ ในคราวนี้แม้ว่าเกนเชอร์และโกลอมโบยังคงเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงและให้มีการบูรณาการประชาคมเชิงลึกและเข้มข้นมากขึ้นแต่ก็ได้รับการลงมติยอมรับด้วยดีจากทุกชาติสมาชิกเพราะเห็นว่าไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาปฏิญญาฉบับนี้ได้กลายเป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งที่ถูกนำไปใช้ประกอบการพิจารณายกร่างสนธิสัญญามาสตริกต์
     การจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรปหรือเอสอีเอ็ม (Single European Market - SEM)* ใน ค.ศ. ๑๙๘๗ นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่ ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินให้บรรลุ ผลโดยเร็วและยังเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้เกิดการจัดตั้งสหภาพยุโรปขึ้นมาได้ในเวลาเดียวกัน เพราะกฏหมายยุโรปตลาดเดียวหรือเอสอีเอ (Single European Act SEA)* ค.ศ. ๑๙๘๖ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสนธิสัญญาโรมเป็นครั้งแรกนั้นนอกจากได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนตลาดร่วมยุโรป (Common Market) เป็นตลาดเดียวที่มีศักยภาพแล้วยังได้กำหนดให้ทุน สินค้าบริการ และแรงงานเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีภายในตลาดยุโรป ซึ่งทำให้เกิดความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการบูรณาการทางด้านการเงินเพื่อให้มีการใช้เงินตราสกุลเดียวกันและมีธนาคารกลางในระดับยุโรปที่ทำหน้าที่ประสานนโยบายด้านการเงินของประเทศสมาชิกเพื่อให้ตลาดเดียวสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ การรวมตลาดยังทำให้ประชาคมจำเป็นต้องมีระบบการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น มีระบบรัฐสภาที่โปร่งใสและสามารถควบคุมประชาคมได้ มีนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงสำหรับใช้ทั้งภายในและภายนอกประชาคม รวมทั้งต้องมีโครงสร้างทางการเมืองแบบสหพันธ์ที่มีการแบ่งสรรอำนาจระหว่างองค์กรต่าง ๆ อย่างชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้กฎหมายยุโรปตลาดเดียวยังได้บรรจุระบบความร่วมมือทางการเมืองยุโรปไว้ในสนธิสัญญาด้วย จึงเท่ากับเป็นการวางโครงร่างส่วนหนึ่งให้กับสหภาพยุโรป
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๗-๑๙๘๘ การจัดตั้งอีเอ็มยูที่มีเป้าหมายอยู่ที่การมีเงินตราสกุลเดียวร่วมกันจึงได้กลับมาสู่ระเบียบวาระเร่งด่วนของประชาคมยุโรปอีกครั้ง และได้รับความสนใจอย่างมากจากบรรดาผู้นำชาติสมาชิกส่วนใหญ่ โดยเฉพาะมิตแตร์รองแห่งฝรั่งเศสและ เฮลมุท โคล (Helmut Kohl)* แห่งเยอรมนีตะวันตกซึ่งต่างก็สนับสนุนการรวมยุโรปมาโดยตลอด สำหรับมิตแตร์รองนั้นเขาเห็นว่าการจัดตั้งอีเอ็มยูจะช่วยให้ฝรั่งเศสฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเงินที่ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องให้ดีขึ้น ทั้งยังจะสามารถใช้ระบบธนาคารกลางยุโรปเข้าไปควบคุมเศรษฐกิจการเงินของเยอรมนีที่ กำลังเติบโตเหนือกว่าประเทศอื่นในประชาคมยุโรปได้ ในขณะที่โคลก็ต้องการประโยชน์จากอีเอ็มยูในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเช่นเดียวกันแม้ว่าเขาจะถูกต่อต้านจากธนาคารกลางเยอรมันอย่างรุนแรง ผู้นำทั้งสองและชาก เดอลอร์ (Jacques Delors)* ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการจัดตั้งตลาดเดียวมาแล้วจึงได้ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการจัดตั้งอีเอ็มยูขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๘ เกนเชอร์ได้เสนอบันทึกว่าด้วยการจัดตั้งเขตการเงินยุโรป (European Monetary Area) และธนาคารกลางยุโรปหรืออีบียู (European Central Bank - EBU) ต่อคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรปและต่อมาบันทึกนี้ก็ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่เมืองฮันโนเวอร์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๘ ซึ่งมีมติให้แต่งตั้งเดอลอร์ เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำรายงานว่าด้วยการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินขึ้นภายในสิ้นทศวรรษ ๑๙๘๐
     คณะกรรมการเดอลอร์ (Delors Committee) ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าการธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติของประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป ๑๒ ประเทศ กรรมาธิการ ๒ คน จากคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งรวมทั้งประธานด้วย และผู้เชี่ยวชาญอิสระอีก ๓ คน เริ่มปฏิบัติงานในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๘๘ และจัดทำรายงานเสร็จสิ้นซึ่งตีพิมพ์ออกมาในชื่อ "รายงาน เดอลอร์" (Delors Report) และนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๘๙ รายงานดังกล่าวเสนอโครงสร้างของอีเอ็มยูไว้อย่างชัดเจนรวมทั้งเสนอกลยุทธ์และขั้นตอนการจัดทำนโยบายต่าง ๆ เพื่อทำให้อีเอ็มยูมีความเข้มแข็งและประสานงานกับตลาดเดียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญเดอลอร์ได้เน้นถึงความจำเป็นที่ จะต้องมีเงินตราสกุลเดียวและมีธนาคาร กลางแห่งยุโรปเป็นกลไกสำคัญโดยได้เสนอขั้นตอน การดำเนินงานไว้ ๓ ระยะ คือ ขั้นตอนที่ ๑ เริ่มจากวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ เป็นระยะการประสานนโยบายด้านการเงินระหว่างชาติสมาชิกและการเตรียมงานเพื่อรองรับการแก้ไขสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรป ขั้นตอนที่ ๒ เป็นระยะจัดตั้งระบบธนาคารกลางยุโรปหรืออีเอสซีบี (European System of Central Bank-ESCB) และขั้นตอนที่ ๓ เป็นระยะการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินตราระหว่างประเทศสมาชิกให้เป็นอัตรา ตายตัว และประกาศใช้เงินสกุลเดียวทั่วประชาคมยุโรปต่อมารายงานฉบับนี้ได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสุดยอดยุโรปอีกครั้งที่กรุงมาดริด ในเดือน มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ที่ ประชุมมีมติรับรอง และให้ใช้รายงานดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญในการการพิจารณาจัดตั้งอีเอ็มยูพร้อมทั้งมีมติให้เริ่มใช้แผนขั้นตอนที่ ๑ ในวันที่ ๑ กรกฏาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ - วันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ ส่วนขั้นตอนที่ ๒ และที่ ๓ ยังไม่ได้กำหนดตารางเวลาที่แน่นอน และยังได้มีมติให้จัดการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกประชาคมยุโรปเพื่อจัดตั้งอีเอ็มยูขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๐
     ในปลาย ค.ศ. ๑๙๘๙ มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศของยุโรปเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน คือ การทลายกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* ในเดือนพฤศจิกายนและการล่มสลายของการปกครอง ในระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกในช่วงเดียวกันทำให้การรวมเยอรมนีครั้งใหม่ (Reunification of Germany) เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่ฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก เพราะเกรงว่าเยอรมนีที่ใหญ่ขึ้น อันเป็นผลจากการรวมกันนี้อาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของยุโรปและอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาคมยุโรปด้วย มิตแตร์รองจึงฉวยโอกาสนี้เสนอให้มีการจัดตั้งสหภาพทางการเมืองขึ้นเพื่อผูกพันเยอรมนีที่กำลังเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมให้อยู่ภายในกรอบของสหภาพยุโรปที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองทั้งยังจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ฝรั่งเศสและยุโรปในส่วนรวมในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้การจัดตั้งสหภาพการเมืองยังจะช่วยให้ยุโรปสามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพเพื่อรองรับสถานะใหม่ของประชาคมยุโรปหลังการยุติของสงครามเย็น (Cold War)*
     ฉะนั้นมิตแตร์รองจึงได้ร่วมมือกับโคลยื่นบันทึกลงวันที่ ๑๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๐ ต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปวาระพิเศษที่กรุงดับลินเรียกร้องให้มีการประชุมเจรจาจัดตั้งสหภาพการเมืองระหว่างชาติสมาชิกขึ้นอีก ๑ การประชุมควบคู่ไปกับการประชุมเจรจาจัดตั้งอีเอ็มยูซึ่งได้รับการอนุมัติไปแล้วโดยได้กล่าวถึงความจำเป็นต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนการปฏิรูปสถาบันและกลไกลต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจ การแก้ปัญหาการขาดดุลประชาธิปไตย (democratic deficit) ของประชาคม และความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับสถานการณ์และวิกฤตการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น นอกจากนี้รัฐบาลเบลเยียมยังได้เสนอให้จัดตั้งสหภาพการเมืองขึ้นด้วย ที่ ประชุมจึงได้พิจารณาข้อเสนอทั้งสองพร้อม ๆ กันและมีมติเห็นชอบในหลักการ แต่ก็ยังไม่ได้มีการกำหนดเวลาที่แน่นอน ต่อมาที่ประชุมวาระปรกติที่ กรุงดับลินในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๐ จึงได้อนุมัติให้การประชุมเพื่อจัดตั้งสหภาพการเมืองยุโรปเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการประชุมเพื่อจัดตั้งอีเอ็มยู
     การประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกอีซี ๑๒ ประเทศเริ่มขึ้นในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ ที่กรุงโรม อิตาลี โดยจัดเป็น ๒ การประชุมที่ แยกออกจากกันคือ การประชุมแรกเป็นการประชุมเจรจาเพื่อยกร่างสนธิสัญญาจัดตั้งอีเอ็มยู จึงประกอบด้วยรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและการคลังของประเทศสมาชิกทั้งหมดและผู้แทนของประชาคมยุโรปที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ส่วนการประชุมที่ ๒ เป็นการประชุมเพื่อจัดตั้งสหภาพการเมืองยุโรป ที่ประชุมจึงประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิกและผู้แทนประชาคมยุโรปที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการต่างประเทศ นอกเหนือจากพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการที่กรุงโรมแล้ว การประชุมเจรจาส่วนใหญ่ดำเนินการโดยคณะกรรมการและคณะทำงานชุดต่าง ๆ ที่จัดการประชุมในที่ต่าง ๆ ของประชาคมยุโรป ทั้งในลักษณะทวิภาคีและพหุภาคีแล้วนำผลการดำเนินงานมาเสนอเพื่อการเจรจาในระดับสูงในที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่ลักเซมเบิร์กและเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นประธานประชาคมยุโรปในช่วง ค.ศ. ๑๙๙๑ ตามลำดับ
     การประชุมจัดตั้งอีเอ็มยูใช้รายงานเดอลอร์เป็นแนวทางแต่ก็ได้มีการพิจารณาอย่างกว้างขวางในเรื่องขั้นตอนและตารางเวลาการจัดตั้งอีเอ็มยูตามที่เดอลอร์เสนอมา โดยเฉพาะขั้นตอนที่ ๒ และขั้นตอนที่ ๓ เพราะ เกี่ยวข้องกับการปรับค่าเงิน การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน และนโยบายทางด้านการเงินของชาติสมาชิกรวมทั้งความพร้อมอื่น ๆ ของชาติสมาชิกที่ จะเข้าร่วมในเขตการใช้เงินสกุลเดียวของสหภาพยุโรป ซึ่งหมายถึงความพร้อมในการประกาศการเริ่มต้นใช้เงินสกุลเดียวของสหภาพยุโรปด้วย ฉะนั้นที่ประชุมจึงได้ปรับตารางเวลาของการเริ่มขั้นตอนทั้งสองและรายละเอียดในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนใหม่ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาอื่น ๆที่สำคัญหลายประการ เช่น ปัญหาความเป็นอิสระของธนาคารกลางของชาติสมาชิกและปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกลางเหล่านี้กับธนาคารกลางยุโรป ซึ่งใช้เวลาเจรจาต่อรองกันเป็นเวลานาน จน ในที่สุดคาร์ล ออทโท โพล (Karl Otto Pöhl) ประธานธนาคารกลางเยอรมันซึ่งเป็นตัวแทนต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของธนาคารกลางของชาติสมาชิกลาออกจากตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ก่อนหมดวาระที่ ๒ ของเขา
     อย่างไรก็ดี คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ก็สามารถ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไปได้ และเสนอร่างสนธิสัญญาจัดตั้งอีเอ็มยูฉบับแรกต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่ลักเซมเบิร์กในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นปัญหาต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและเข้มข้น ในที่สุดก็มีมติให้พิจารณาร่างสนธิสัญญาใหม่เพื่อปรับปรุงขั้นตอนที่ ๓ โดยยอมให้ประเทศที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์การปรับค่าเงิน (Convergence Criteria) หรือประเทศที่ ผ่านแล้วแต่ไม่ต้องการเข้าร่วมอีเอ็มยูในขั้นตอนที่ ๓ มีสิทธิที่จะไม่เข้าร่วม (opt-out) ในการใช้เงินสกุลเดียวของสหภาพยุโรปได้ ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการบังคับประเทศสมาชิกให้ใช้เงินสกุลร่วมแต่ประการใด เพื่อเป็นการประนีประนอมกับกลุ่มประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งอีเอ็มยูอย่าง เช่น อังกฤษ และเดนมาร์กและได้มีการระบุมาตรการดังกล่าวไว้ในมาตรา ๑๐๙ เอ-เอ็ม (Article 109 a-m) ของสนธิสัญญาโรมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม การจัดทำร่างสนธิสัญญาอีเอ็มยูจึงแล้วเสร็จก่อนการประชุมสุดยอดที่เมืองมาสตริกต์ในเดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑
     ส่วนการประชุมเพื่อจัดตั้งสหภาพการเมืองเป็นการประชุมที่ยากลำบากและซับซ้อนเพราะในตอนแรกยังไม่มีผู้ใดเข้าใจลักษณะที่ชัดเจนของสหภาพยุโรปที่กำลังจัดตั้งขึ้นเท่าใดนัก ทั้งยังไม่มีเอกสารที่จะใช้เป็นแนวทางของการประชุมเจรจาดังเช่นรายงานเดอลอร์อีกทั้งประเด็นปัญหาที่ ต้องพิจารณาก็ครอบคลุมเรื่อง ต่าง ๆ จำนวนมากตั้งแต่ปัญหาการออกเสียงในคณะมนตรี บทบาทของรัฐสภายุโรป นโยบายทางด้านสังคมการปรับเปลี่ยนความร่วมมือทางด้านการเมืองยุโรปให้เป็นนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมืองยุโรป (Union citizenship) ไปจนถึงการปรับปรุงนโยบายและสถาบันต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ระบบสหพันธ์ให้ได้มากที่สุด เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ เกี่ยวข้องกับอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทั้งสิ้น ซึ่งทำให้ต้องมีการเจรจาต่อรองกันอย่างยาวนานกว่าจะหาข้อยุติได้ จนกระทั่งใกล้จะจบการประชุมในวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดที่เมืองมาสตริกต์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ก็ยังมีหลายเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ ซึ่งที่ประชุมก็ต้องยอมประนีประนอมเพื่อให้ร่างสนธิสัญญาผ่านการลงมติรับรอง เช่น ยอมถอนคำว่าสหพันธ์ (federal) ออกจากร่างสนธิสัญญาทั้งหมดตามคำเรียกร้องของอังกฤษก่อนการประชุมสุดยอดที่เมืองมาสตริกต์เพียงเล็กน้อย และยอมให้อังกฤษใช้สิทธิไม่เข้าร่วมในมิติทางสังคมของสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรปในวันสุดท้ายของการประชุมร่างสนธิสัญญาที่รวมผลการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกทั้ง ๒ การประชุมเข้าไว้ในสนธิสัญญาฉบับเดียวกันจึงผ่านการรับรองของที่ประชุมสุดยอดที่เมืองมาสตริกต์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ และในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๒ ก็ได้มีพิธีลงนามในร่างสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการที่เมืองมาสตริกต์ นับเป็นความสำเร็จอันโดดเด่นของการบูรณาการยุโรป
     สนธิสัญญามาสตริกต์เป็นผลจากการแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญาแม่บทของประชาคมยุโรปทุกฉบับได้แก่ สนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ค.ศ. ๑๙๕๑ เพื่อจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป สนธิสัญญาโรม ค.ศ. ๑๙๕๗ ทั้ง ๒ ฉบับ เพื่อจัดตั้งอีอีซีและประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European Atomic Energy Community - EURATOM)* และกฎหมายยุโรปตลาดเดียว ค.ศ. ๑๙๘๖ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ ๑) เพื่อสร้างสถาบันที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ๒) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการทำงานของสถาบันต่าง ๆ ๓) เพื่อสร้างสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน ๔) เพื่อพัฒนามิติทางสังคมของประชาคมยุโรป และ ๕) เพื่อจัดตั้งนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง
     สนธิสัญญามาสตริกต์ได้กำหนดโครงสร้างของสหภาพยุโรปไว้โดยให้ประกอบด้วยสถาบันสำคัญซึ่งเป็นเสาหลัก ๓ เสา (Three Pillars) คือ เสาหลักที่ ๑ (First Pillar) ประกอบด้วยประชาคมยุโรปเดิมทั้งหมดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการค้าและการพัฒนา ตลาดเดียวแห่งยุโรป และอีเอ็มยู เสาหลักที่ ๑ นี้มีลักษณะเป็นองค์การเหนือรัฐ เสาหลักที่ ๒ (Sec-ond Pillar) เป็นนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยพัฒนามาจากระบบความร่วมมือทางการเมืองยุโรปซีเอฟเอสพีมีลักษณะเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ของชาติสมาชิกโดยจะค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ความเป็นองค์การเหนือรัฐในอนาคต และยังมีการนำสหภาพยุโรปตะวันตกหรือดับเบิลยูอียู (Western European Union - WEU) ซึ่งเป็นองค์การพันธมิตรทางทหารของ ประเทศสมาชิกส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปเข้ามาอยู่ในกรอบของสหภาพยุโรปในเสาหลักที่ ๒ เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาศักยภาพในระบบการป้องกันของสหภาพยุโรปด้วย และเสาหลักที่ ๓ (Third Pillar) เป็นเรื่องของความร่วมมือในด้านยุติธรรมและกิจการภายใน การที่ผู้ร่างสนธิสัญญากำหนดให้มีเสาหลักที่ ๓ นี้อยู่ในสหภาพยุโรปก็เพื่อแสวงหามาตรการปกป้องเสรีภาพความมั่นคง และความยุติธรรมให้แก่พลเมืองยุโรปสถาบันนี้มีลักษณะเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิก ซึ่งจะค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันเหนือรัฐเช่นเดียวกับเสาหลักที่ ๒
     สนธิสัญญามาสตริกต์มีลักษณะเด่นหลายประการ เช่น การเพิ่มบทบาทให้แก่รัฐสภายุโรปในกระบวนการตัดสินใจร่วมกับคณะมนตรีและอำนาจใน การแต่งตั้งและรับรองฐานะของกรรมาธิการและประธานคณะกรรมาธิการยุโรป การขยายเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมาธิการยุโรปจากวาระละ ๔ ปี มาเป็น ๕ ปี เพื่อให้ตรงกับวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภายุโรป นอกจากนี้ สนธิสัญญายังได้ขยาย ขอบเขตการใช้เสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไขออกไป อย่างกว้างขวางในกระบวนการตัดสินใจของคณะมนตรี ในเกือบทุกเรื่อง ทั้งยังได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะ กรรมการภูมิภาค (Committee of the Regions) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้ภูมิภาคต่าง ๆ มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสหภาพยุโรป สนธิสัญญามาสตริกต์ยังได้กำหนดนโยบายใหม่ ๆ ให้แก่สหภาพยุโรปในเรื่องสำคัญ ๖ เรื่อง คือ ระบบเครือข่ายยุโรป นโยบายอุตสาหกรรม นโยบายคุ้มครองผู้บริโภค นโยบายการศึกษาและการฝึกอบรมทางด้านอาชีพ นโยบายเยาวชน และนโยบาย ทางด้านวัฒนธรรม
     ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของสนธิสัญญามาสตริกต์ก็คือ การจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินซึ่งรวมอยู่ในเสาหลักที่ ๑ โดยกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มีองค์ประกอบ ๓ ส่วน ได้แก่ ความร่วมมือของชาติสมาชิกในการประสานนโยบายเศรษฐกิจ การจัดหาวิธีสอดส่องดูแลความร่วมมือดังกล่าว และการมีวินัยทางเศรษฐกิจการเงินร่วมกัน เป้าหมายสำคัญของอีเอ็มยูก็คือ การใช้เงินสกุลเดียวร่วมกันอย่างมีเสถียรภาพโดยได้กำหนดขั้นตอนของการใช้เงินสกุลเดียวไว้ดังนี้ ขั้นตอนที่ ๑ เริ่มจากวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๐ เป็นระยะการเปิดเสรีทางด้านเงินทุนของชาติสมาชิกขั้นตอนที่ ๒ เริ่มจากวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๔ เป็นระยะของการปรับนโยบายทางการเงินและการปรับค่าเงินของชาติสมาชิกและขั้นตอนที่ ๓ ควรเริ่มอย่างช้าที่สุดในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๙ ซึ่งจะเป็นวันเริ่มใช้เงินสกุลร่วมของสหภาพยุโรปและการเริ่มทำงานของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินของระบบธนาคารกลางยุโรปร่วมกับธนาคารกลางของชาติสมาชิก โดยเป็นอิสระจากหน่วยงานทางด้านการเมืองของสหภาพยุโรปและชาติสมาชิก นอกจากนี้ยังมีการกำหนดข้อยกเว้นสำหรับชาติสมาชิกที่ไม่ต้องการเข้าร่วมในเขตการใช้เงินสกุลเดียวของสหภาพด้วยสำหรับชื่อของเงินสกุลเดียวนั้นสนธิสัญญาไม่ได้ระบุไว้แต่ที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงมาดริดใน ค.ศ. ๑๙๙๕ ได้มีมติให้ใช้ชื่อเงินยูโร (Euro)*
     เรื่องสำคัญที่ถือเป็นสิ่งใหม่และเป็นความก้าวหน้าที่สนธิสัญญามาสตริกต์ได้จัดทำขึ้น คือ "ความเป็นพลเมืองยุโรป" ที่สนธิสัญญากำหนดว่าพลเมืองของชาติสมาชิกจะเป็นพลเมืองของสหภาพยุโรปโดยอัตโนมัติซึ่งจะมีสิทธิในการอยู่อาศัย การเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีและสามารถใช้สิทธิทางการเมืองในประเทศใดก็ได้ที่ตนเข้าไปอยู่อาศัย นอกจากนี้ สนธิสัญญายังขยายมิติทางสังคมออกไปอย่างกว้างขวางและบรรจุไว้ในพิธีสารในภาคผนวกที่แยกออกจากตัวสนธิสัญญา รวมทั้งได้กำหนดหลักการแบ่งแยกอำนาจตามสิทธิแห่งชาติสมาชิก ที่มีใจความว่ากิจกรรมใดที่ไม่ได้อยู่ในอาณัติโดยตรงของสหภาพยุโรป สหภาพจะสามารถดำเนินการได้ เฉพาะกรณีที่ประเทศสมาชิกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เท่านั้น หรือจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ดีกว่าด้วยการดำเนินการของสหภาพ การที่สนธิสัญญามาสตริกต์กำหนดหลักการนี้ไว้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้สหภาพยุโรปมีอิทธิพลมากเกินไป
     แม้ว่าสนธิสัญญามาสตริกต์ จะถือได้ว่าเป็นการขยายขอบเขตของการบูรณาการและความร่วมมือของชาติสมาชิกออกไปได้อย่างกว้างขวางกว่าที่ เป็นมาก่อนและมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ มากกว่าเดิมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของแต่ละชาติสมาชิก แต่สนธิสัญญาฉบับนี้กลับใช้เวลาในการให้สัตยาบันในบางประเทศค่อนข้างยาวนานจนเกือบไม่ผ่าน เนื่องจากมีมิติทางการเมืองปรากฏอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการมอบอำนาจให้แก่ประชาคมยุโรปและสหภาพยุโรปในเรื่องที่ประชาชนของประเทศสมาชิกถือว่ามีความสำคัญต่ออธิปไตยของชาติ เช่น ความร่วมมือด้านความมั่นคง ความร่วมมือใน กิจการภายใน และการใช้เงินตราสกุลเดียวกันที่คนเป็นจำนวนมากไม่ต้องการละทิ้งการใช้เงินตราสกุลเดิมของชาติตนที่เคยใช้มาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน และเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของ แต่ละประเทศสมาชิกด้วย ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดความกังวลแก่บรรดาผู้เคลือบแคลงต่อกระบวนการรวมยุโรป (Euroskeptics) ในประเทศสมาชิกทั้งหลายว่าสหภาพยุโรปที่จัดขึ้นใหม่นี้เป็นความพยายามในการสร้าง "ระบอบเหนือรัฐ" ในระดับยุโรปขึ้นเพื่อครอบงำประเทศสมาชิกแทนที่จะเป็นการสร้างความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
     นอกจากนี้ สาระและกระบวนการต่าง ๆ ที่ปรากฏในสนธิสัญญาในหลายเรื่องก็ยังมีลักษณะซับซ้อนและคลุมเครือ สามารถตีความได้กว้างขวาง และมีลักษณะเป็นสาระเชิงวิชาการที่ทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจ ของประชาชนโดยทั่วไปและกระบวนการจัดทำสนธิสัญญาก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์มากพอจึงทำให้สาธารณชนที่ขาดความเข้าใจในเรื่องของประชาคมยุโรปและสหภาพยุโรปอยู่แล้วมีความวิตกกังวลและเคลือบแคลงสงสัยสนธิสัญญาฉบับนี้มากขึ้น ในบางประเทศถึงกับถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้การให้สัตยาบันของสนธิสัญญายังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมเพราะในช่วง ค.ศ. ๑๙๙๒ ยุโรปต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ หลายครั้ง เช่น วิกฤตการณ์ในยูโกสลาเวียที่สหภาพยุโรปประสบความล้มเหลวในการเข้าไปแทรกแซง วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ทำให้อังกฤษและอิตาลีต้องถอนตัวออกจากอีอาร์เอ็มซึ่งเป็นกลไกส่วนหนึ่งของอีเอ็มเอส และความขัดแย้งเกี่ยวกับความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าหรือแกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade - GATT)* รอบอุรุกวัย เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนมีผลทำให้ประชาชนมีทัศนคติและความรู้สึกในทางลบต่อสหภาพยุโรปและสนธิสัญญามาสตริกต์ทั้งสิ้น
     เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่ประสบปัญหาในการให้สัตยาบัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้การให้สัตยาบันต้องกระทำโดยผ่านการทำประชามติ เดนมาร์กจึงจัดทำประชามติครั้งแรกในวันที่ ๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ซึ่งปรากฏผลว่าประชาชนไม่ยอมรับสนธิสัญญามาสตริกต์ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ ๕๐.๗ ต่อ ๔๙.๓ สร้างความวิตกกังวลให้แก่ประชาคมยุโรปเป็นอย่างมากเพราะเกรงว่าสนธิสัญญาจะไม่มีผลบังคับใช้ รัฐบาลเดนมาร์กจึงได้พยายามหาทางออกด้วยการเจรจากับประชาคมยุโรป ซึ่งในที่สุดที่ ประชุมสุดยอดยุโรปที่เมืองเอดินบะระก็มีมติให้ทำความตกลงพิเศษซึ่งผนวกไว้ท้ายสนธิสัญญายอมให้เดนมาร์กและประเทศสมาชิกบางประเทศที่ ไม่พร้อมจะเข้าร่วมหรือไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมในแผนบูรณาการบางเรื่องเลือกตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมก็ได้ (Opt-Out Clause) ทำให้การทำประชามติในรอบสองในเดนมาร์กในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ ผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยคะแนนเสียงยอมรับของประชาชนที่มาออกเสียงร้อยละ ๕๖.๘
     ส่วนในฝรั่งเศสมิตแตร์รองได้จัดให้มีการทำประชามติในวันที่ ๒๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ทั้งที่ได้ผ่านการให้สัตยาบันในรัฐสภาไปแล้ว และรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดไว้ แต่มิตแตร์รองต้องการเสียงสนับสนุนจาก ประชาชนอีกชั้นหนึ่ง และปรากฏว่าสนธิสัญญามาสตริกต์ผ่านการรับรองของประชาชนด้วยคะแนนเฉียดฉิว เพียงร้อยละ ๕๐.๐๕ นับเป็นการทดสอบครั้งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของประชาชนที่มีต่อประธานาธิบดีและสนธิสัญญาฉบับนี้ได้เป็นอย่างดี
     การให้สัตยาบันในอังกฤษประสบความยุ่งยากมากที่สุด ผลการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ทำให้รัฐบาลอนุรักษนิยมของจอห์น เมเจอร์ (John Major)* ได้รับเสียงข้างมากน้อยลงและในพรรคก็ยังมีสมาชิกที่เป็นพวกไม่สนับสนุนการรวมยุโรปอยู่ด้วยค่อนข้างมาก ในขณะที่ เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาก็ไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญามาสตริกต์และการเข้าร่วมในกระบวนการบูรณาการยุโรปโดยทั่วไป ส่วนพรรคแรงงานแม้จะไม่ต่อต้านการเข้าร่วมยุโรปแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการไม่เข้าร่วมในกฎบัตรสังคม (Social Charter) ของอังกฤษจึงโจมตีสนธิสัญญามาสตริกต์และแสดงท่าทีไม่ยอมรับสนธิสัญญาประกอบกับในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๙๒ อังกฤษประสบวิกฤตการณ์การเงินอย่างหนักจนต้องถอนเงินปอนด์เสตอลิงออกจากอีอาร์เอ็ม ทำให้สนธิสัญญาถูกโจมตีหนักขึ้น การให้สัตยาบันในรัฐสภาอังกฤษจึงเป็นไปอย่างล่าช้าและยากลำบาก เพราะเมเจอร์ต้องประสบปัญหาทั้งภายในและภายนอก ยิ่งกว่านั้นในครึ่งหลังของ ค.ศ. ๑๙๙๒ อังกฤษยังได้เป็นประธานของประชาคมยุโรปด้วย ซึ่งนอกจากทำให้เมเจอร์ต้องเข้าไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประชาคมแล้วยังต้องเผชิญกับท่าทีผิดหวังของบรรดาผู้นำประเทศอื่น ๆ ที่เขาไม่สามารถนำอังกฤษออกจากวิกฤตการณ์ให้สัตยาบันได้หลังการทำความตกลงพิเศษในที่ ประชุมสุดยอดยุโรปที่เอดินบะระแล้ว เมเจอร์จึงจำเป็นต้องตัดสินใจทำให้สนธิสัญญามาสตริกต์ผ่านการให้สัตยาบันให้ได้ พรรครัฐบาลจึงอ้างว่าอาจมีการยุบสภาหากสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ผ่านการให้สัตยาบัน การลงมติในรัฐสภาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ จึงผ่านไปได้ด้วยคะแนนเฉียดฉิว
     ส่วนเยอรมนีแม้ว่าโคลจะเป็นกำลังสำคัญในการจัดทำสนธิสัญญามาสตริกต์ แต่เยอรมนีก็เป็นประเทศสุดท้ายที่ผ่านการให้สัตยาบัน เพราะกลุ่มต่อต้านการรวมยุโรปได้ผลักดันให้นำสนธิสัญญามาสตริกต์ให้ศาล รัฐธรรมนูญพิจารณาก่อน ซึ่งศาลก็ได้ให้คำวินิจฉัยว่าสนธิสัญญาไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเยอรมัน รัฐสภาจึงผ่านการให้สัตยาบันด้วยดีในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ และมีผลให้สนธิสัญญามาสตริกต์ได้รับการให้สัตยาบันครบทุกประเทศ สนธิสัญญาจึงมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๓ ประชาคมยุโรปจึงเปลี่ยนสถานภาพเป็นสหภาพยุโรปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
     เนื่องจากผู้ยกร่างสนธิสัญญามีความตระหนักว่ากระบวนการบูรณาการยุโรปมีลักษณะเป็นพลวัต และการขยายตัวของสหภาพยุโรปจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสถาบัน บทบาท และนโยบายอยู่เสมอในมาตราเอ็น (Article N) ของสนธิสัญญามาสตริกต์จึงได้กำหนดให้มีการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกสหภาพยุโรปหลังการใช้สนธิสัญญาไปได้ระยะหนึ่ง เพื่อพิจารณาทบทวนหรือแก้ไขสนธิสัญญา ดังนั้นหลังการสถาปนาสหภาพยุโรปแล้วจึงมีการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกครั้งสำคัญเพื่อแก้ไขสนธิสัญญามาสตริกต์อีก ๔ ครั้ง ครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๙๖ ซึ่งปรากฏ ผลเป็นสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) หรือสนธิสัญญาสำหรับยุโรป (Treaty for Eu-rope) ฉบับ ค.ศ. ๑๙๙๗ ครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๒๐๐๑ ซึ่งปรากฏผลเป็นสนธิสัญญานีซ (Treaty of Nice) ฉบับ ค.ศ. ๒๐๐๓ ครั้งที่ ๓ ใน ค.ศ. ๒๐๐๒ เป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป (Treaty Establishing Constitution for Europe) ฉบับ ค.ศ. ๒๐๐๔ แต่ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการแสดง ประชามติในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์จึงถูกยกเลิกไปต่อมา ในช่วงครึ่งแรกของ ค.ศ. ๒๐๐๗ ขณะที่เยอรมนีดำรงตำแหน่งประธานสหภาพยุโรป ได้มีความพยายามจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ขึ้นมาแทนที่รัฐธรรมนูญยุโรปโดยการแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญาโรมและสนธิสัญญามาสตริกต์ จึงนับเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญามาสตริกต์ครั้งที่ ๔ การจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่เสร็จสมบูรณ์และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่ กรุงลิสบอนในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ ต่อมาในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง ๒๗ ประเทศก็ได้ลงนามในร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ร่วมกันที่กรุงลิสบอนสนธิสัญญาดังกล่าวจึงได้ชื่อ สนธิสัญญาลิสบอน (Treaty of Lisbon) ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า สนธิสัญญาว่าด้วยการดำเนินงานของสหภาพยุโรปหรือทีเอฟอียู (Treaty on the Functioning of the European Union - TFEU) สนธิสัญญาฉบับนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ.๒๐๐๙
     สนธิสัญญาลิสบอนมีสาระสำคัญที่แตกต่างจากสนธิสัญญามาสตริกต์ในเรื่องที่สำคัญ ๆ คือ ประธานคณะมนตรียุโรปซึ่งเป็นประธานของสหภาพยุโรปด้วยจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งวาระละ ๒ ปี ๖ เดือน แทนระบบปัจจุบันที่หมุนเวียนกันเข้ามาดำรงตำแหน่งวาระละ ๖ เดือนทั้งยังมีการกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของประธานสหภาพยุโรปไว้ อย่างละเอียดมากขึ้น จะมีผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป (EU Higher Representative for Foreign and Security Policy) ที่รวมเอาหน้าที่ของผู้แทนระดับสูงของนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (High Representative for Common Foreign and Security Policy) เข้ากับกรรมาธิการต่างประเทศ (External Affairs Commissioner) เป็นตำแหน่งเดียวกัน และตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๑๔ คณะกรรมาธิการยุโรปจะมีขนาดเล็กลงโดยมีจำนวนกรรมาธิการน้อยกว่าจำนวนประเทศสมาชิกทั้งหมดนอกจากนี้ยังมีการจัดสรรจำนวนที่นั่งของสมาชิกรัฐสภายุโรปและน้ำหนักของการออกเสียงของแต่ละชาติสมาชิกใหม่ ซึ่งจะเริ่มใช้ใน ค.ศ. ๒๐๑๔ รวมทั้งมีการยกเลิกวิธีลงมติแบบเอกฉันท์ในหลาย ๆ เรื่องในคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และมีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ในเรื่องใหม่ ๆ ให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปรัฐสภายุโรป และศาลยุติธรรมยุโรป (European Court of Justice) เช่น งานด้านยุติธรรมและกิจการภายในเป็นต้



คำตั้ง
Maastricht, Treaty of; Treaty on European Union
คำเทียบ
สนธิสัญญามาสตริกต์, สนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป
คำสำคัญ
- รายงานเดอลอร์
- การทลายกำแพงเบอร์ลิน
- ระบบธนาคารกลางยุโรป
- สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม
- ศาลยุติธรรมยุโรป
- การรวมเยอรมนีครั้งใหม่
- เดอลอร์, ชาก
- โคล, เฮลมุท
- ตลาดร่วมยุโรป
- ธนาคารกลางยุโรปหรืออีบียู
- เขตการเงินยุโรป
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- คณะกรรมการเดอลอร์
- ระบบความร่วมมือทางการเมืองยุโรป
- มิตแตร์รอง, ฟรองซัว
- สนธิสัญญาสำหรับยุโรป
- แผนเกนเชอร์-โกลอมโบ
- ตลาดเดียวแห่งยุโรป
- แทตเชอร์, มาร์กาเร็ต
- เกนเชอร์, ฮันส์-ดีทริช
- โกลอมโบ, เอมีลีโอ
- ร่างสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป
- กฎหมายยุโรปตลาดเดียว
- สปีเนลลี, อัลตีเอโร
- ร่างสปีเนลลี
- ระบบการเงินยุโรป
- ระบบการเงินยุโรปที่มีกลไกอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราร่วมกัน
- พรรคแรงงาน
- เดสแตง, วาเลรี ชีสการ์
- คัลลาแฮน, เจมส์
- แวร์เนอร์, ปีแยร์
- ชมิดท์, เฮลมุท
- เจงกินส์, รอย
- รายงานแวร์เนอร์
- รัฐสภายุโรป
- ระบบเบรตตันวูดส์
- รายงานทินเดมานส์
- คณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรป
- ทินเดมานส์, เลโอ
- สหภาพยุโรป
- โกล, ชาร์ล เดอ
- สหภาพเศรษฐกิจและการเงินยุโรป
- คณะกรรมาธิการยุโรป
- สนธิสัญญามาสตริกต์
- สหภาพการเมืองยุโรป
- สนธิสัญญาโรม
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- ประชาคมยุโรป
- ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
- สนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป
- ความร่วมมือทางด้านยุติธรรมและกิจการภายใน
- การประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงเฮก
- นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง
- สงครามเย็น
- โพล, คาร์ล ออทโท
- ประชาคมพลังงานปรมาณูแห่งยุโรปหรือยูราตอม
- สหภาพยุโรปตะวันตก
- ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าหรือแกตต์
- เงินยูโร
- เมเจอร์, จอห์น
- สนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป
- สนธิสัญญานีซ
- สนธิสัญญาลิสบอน
- สนธิสัญญาว่าด้วยการดำเนินงานของสหภาพยุโรป
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf